ถอดบทเรียน "เชอรี่แอน" ถึง "ครูแพะหรือแกะ" สู่หวังปฏิรูป ตร.

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1191
หางาน,สมัครงาน,งาน,ถอดบทเรียน

ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา วันที่ 22 มกราคม 2560 โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง และเครือข่ายองค์กรประชาสังคม จัดงานเสวนาโต๊ะกลมจากบทเรียนเชอรี่แอนถึงกรณีครูแพะหรือแกะ ในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางและความหวังการปฏิรูปตำรวจ” วิทยากร ประกอบด้วย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายนคร ชมพูชาติ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร บรรณาธิการหนังสือโรดแมปปฏิรูปตำรวจ มีนายเมธา มาสขาว เป็นผู้ดำเนินรายการ                                                          

            โดยนางอังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ถูกเชิญให้วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของตำรวจมาในหลายเวที ประเด็นสำคัญเป็นความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการทำหน้าที่ของตำรวจควรจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งเห็นว่า การพยายามปฏิรูปตำรวจมีความจริงจังในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ระหว่างปี 2549-2550 ที่ได้ให้คำมั่นสัญญาจะทำให้ได้ ถ้าไม่สำเร็จในยุครัฐบาลนี้ ก็ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลชุดหน้า แล้วมีการออกกฎหมายที่สำคัญ 2 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติปฏิรูปตำรวจ และพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ท้ายที่สุดก็ถูกยกเลิกไปในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา 

 

           “ประสบการณ์ที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในคณะกรรมาธิการวิสามัญทำให้เห็นว่า สมาชิกที่เป็นนายตำรวจระดับสูงมักไม่เห็นด้วยต่อการปฏิรูป ในประเด็นของการแยกอำนาจสืบสวน และสอบสวนของตำรวจอกจากกัน จึงมีเสียงคัดค้านอย่างมากมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนตัวมองเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันตำรวจ ถือเป็นพื้นที่ไม่เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้เลย” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว                            

 

          นอกจากนี้ นางอังคณา กล่าวด้วยว่า ในการให้อำนาจตำรวจเบ็ดเสร็จ เป็นเหตุนำไปสู่ปัญหาการคอร์รัปชั่น ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของตัวเงิน แต่หมายรวมถึงอำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งการคอร์รัปชั่นเชิงอำนาจเป็นวิกฤติคุณธรรมอย่างร้ายแรงในกระบวนการนยุติธรรม เพราะตำรวจเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เมื่อตำรวจไม่ใส่ใจหรือแยแสประชาชน กระบวนการยุติธรรมจึงไม่สามารถให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคม ถึงแม้มีกฎหมายที่ดี แต่ก็มีกฎหมายบางอย่างที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ยึดตามหลักการสากล โดยเฉพาะการไม่ล่วงละเมิดความเป็นมนุษย์ ส่วนการปฏิบัติหน้าที่โดยอ้างถึงเหตุเพื่อความมั่นคงอาจทำให้เกิดการใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ ดังนั้น หากประชาชนโดยทั่วไปถูกกระทำละเมิด แล้วจะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมคงเป็นไปได้ยากมาก แม้จะมีสิทธิตามกฎหมายแต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง นอกจากนี้ เหยื่อบางรายยังอาจถูกข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว เช่นเดียวกับกรณีครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ที่ถูก พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ ในเชิงตอบโต้เพื่อทำให้เกิดความหวาดกลัว 

                                                 

            “สถาบันตำรวจมีการปกป้องพวกพ้อง รุ่นพี่รุ่นน้อง ช่วยเหลือระหว่างกันเป็นการปกป้องกันเอง โดยกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบ แม้กระทั่งในส่วนของ กสม. แม้มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ก็อาจไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลพยานหลักฐานได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้นกฎหมายยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อผู้เสียหายที่เข้าสู่กระบวนการร้องเรียนตามหลักของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีความโปร่งใส ไม่ลำเอียงช่วยเหลือพวกพ้อง ตามที่ประชาชนอยากเห็นตำรวจเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ย้ำ

                  

           ด้าน นายนคร กล่าวว่า เราเห็นปัญหาของตำรวจกันมานานในหลายมิติ การปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาของตำรวจต้องดำเนินการสร้างตำรวจให้เป็นคนดีพอเพียง ถ้าตำรวจมีความรู้สึกจากจิตใจภูมิใจที่จะรับใช้ประชาชน เชื่อว่า ปัญหาจะหมดไป แม้จะมองว่า เป็นข้อเสนอที่เพ้อฝัน แต่ก็เป็นเพียงทางออกทางเดียวในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นควรมีการแก้ไขเชิงระบบ โดยประชาชนต้องเข้าไปสอดส่องการถือครองทรัพย์สินรวมไปถึงการใช้ชีวิตนายตำรวจระดับสูง เพื่อเป็นการสร้างกลไกตรวจสอบ ตนเชื่อว่า ต้องใช้กลไกการปรับปรุงจิตสำนึกของตำรวจ แล้วไปตรวจสอบการครอบครองทรัพย์สิน ใช้เป็นแนวทางสำหรับการปฏิรูปตำรวจ โดยเรื่องเหล่านี้ประชาชนหน่วยงานสื่อมวลชนต้องเข้าร่วมมามีส่วนเกี่ยวข้องช่วยทำให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นได้จริง

 

          ขณะที่ นายปรัชญาชัย กล่าวว่า ในฐานะบรรณาธิการหนังสือโร้ดแม็พการปฏิรูปปฏิรูปตำรวจ ได้รวบรวมภาพรวมตั้งแต่ครั้งเป็นกรมตำรวจจนถึงปัจจุบันที่เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อสะท้อนทิศทางการดำเนินงาน ตนมีข้อเสนอของตำรวจ นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิสำหรับการปฏิรูปตำรวจ อาทิ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายคณิต ณ นคร นายอุดม รัฐอมฤต นายบรรเจิด สิงคะเนติ รวมถึงพ.ต.อ.วิรุตม์ ล้วนเป็นข้อมูลที่สะท้อนการทำงาน แล้วในช่วงต้นปี 2559 ตำรวจได้เผชิญกับวิกฤติอย่างนัก แม้กระทั่งในปัจจุบันก็มีเรื่องฉาวโฉ่ ในการทุจริตสอบนายสิบตำรวจ หรือกรณีครูจอมทรัพย์ การอุ้มฆ่าสาว ทอม นำไปสู่วิกฤติศรัทธาของประชาชน สิ่งเหล่านี้จะมีมากขึ้นไป หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง

                           

          “ในกรณีครูจอมทรัพย์ ได้ส่งผลกระเทือนระบบกระบวนการยุติธรรม แม้ขณะนี้จะยังมีข้อกังขาอีกมาก เรื่องนี้สะท้อนได้ว่ากระบวนการยุติธรรมเกิดปัญหาขึ้น สังคมจะสงสารผู้เสียหายมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ว่าครูจอมทรัพย์จะเป็นแพะ หรือจะเป็นแกะ  ก็ทำให้เห็นถึงปัญหาในกระบวนการยุติธรรม ที่หมายรวมถึงปัญหาการรับจ้างติดคุก ถ้ากระบวนการดังกล่าวมีจริงยิ่งสะท้อนความเลวร้ายที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยได้” นายปรัชญาชัย กล่าวและเสนอว่า ในการปฏิรูปตำรวจที่ผ่านมาเป็นเพียงการทำลวงๆ ไม่มีการปฏิรูปที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งสำคัญการปฏิรูปตามข้อเสนอของพ.ต.อ.วิรุตม์ ที่เสนอให้แยกการทำหน้าที่พนักงานสอบสวนออกจากงานสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงข้อเสนอต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อการปฏิรูปตำรวจ ควรนำมาถกเถียงกันให้เกิดความชัดเจน ซึ่งอุปสรรคของการปฏิรูปตำรวจ หากมีการดำเนินการจริงย่อมกระทบต่อผลประโยชน์ของนายตำรวจระดับสูง ดังนั้นบุคลเหล่านี้ก็จะออกมาขัดขวาง แล้วพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ก็ยังคงให้ความยำเกรงต่อผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากความหวังไว้กับประชาชน ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น

 

          ส่วน พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า ประสบการณ์ในการทำหน้าที่เป็นตำรวจ และที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อยากชี้แจงว่า การแก้ไขปัญหาของตำรวจอยู่ที่การบริหารจัดการ ไม่ใช่ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ที่การแก้ไขต้องไปเพิ่มงบประมาณ เพราะปัจจุบันงบประมาณของตำรวจมีมากถึง 1.3 แสนล้านบาท ปัญหาปัจจุบันของตำรวจได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้เราพูดถึงการปฏิรูปตำรวจกันมามาก แต่ยังหลงอยู่กับภาพลวง หากพล.อ.ประยุทธ์ ก้าวข้ามกับดักตรงนี้ได้ก็จะเกิดการปฏิรูปเกิดผลสำเร็จได้ 

                    

          “ปัญหาสำคัญในสถาบันตำรวจคือ การคอร์รัปชั่น ที่มีการซื้อขายตำแหน่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ ขณะที่ตำรวจเองก็ยังขาดหน่วยงานตรวจสอบ ในยุคที่ตำรวจสังกัดขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย หากมีเรื่องร้องเรียนทางปลัดกระทรวงยังสามารถทำการสอบสวนได้ ปัจจุบันแม้ข้อบังคับของกระทรวงมหาดไทยยังคงมีผลอยู่ ในการที่ให้ตำรวจส่งสำนวนให้นายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดทำการสอบสำนวน ที่ออกตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ทางตำรวจก็ดื้อแพ่งไม่ยอมปฏิบัติ เพราะเหตุว่า ไม่ได้อยู่ใต้สังกัดอยู่กับกระทรวงมหาดไทยอีกต่อไป” อดีตนายตำรวจที่ต้องการเห็นการปฏิรูป กล่าวและมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันตำรวจจะลุกลามกลายเป็นโรคร้ายแรงที่บ่อนทำลายความยุติธรรมสังคมประชาธิปไตย จึงขอเสนอว่า แนวทางสำหรับการปฏิรูปที่จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงและเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือการแยกพนักงานสอบสวนที่ทำหน้าที่ทำสำนวนคดีออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะโครงสร้างของตำรวจที่ลอกเลียนมาจากโครงสร้างแบบทหาร ทำให้เกิดชั้นยศ ที่คู่กับการมีวินัย ทำให้เกิดปัญหายอมปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา แม้จะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย 

CR:komchadluek.net

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top