ผู้สมัครงาน
บทความนี้จะพาคุณไปหาคำตอบ
หน้าที่ของ Programmer ในองค์กร หลักๆ ต้องทำอะไร ?
อาชีพ Programmer เหมาะกับคุณแค่ไหน ?
แล้วคุณจะมีความสุขกับงานนี้ได้รึเปล่า ?
หน้าที่หลักสรุปสั้นๆ คือ เขียนโปรแกรม ทดสอบระบบและแก้ไขจุดบกพร่อง
ส่วนขั้นตอนการทำงาน (ลงรายละเอียดนิดนึง) จะเริ่มจากการนำข้อมูลการออกแบบโครงสร้างระบบจาก System Analyst (SA) หรือนักวิเคราะห์ระบบงาน มาเขียนเป็นโปรแกรมต่างๆ เมื่อเขียนเสร็จก็ทดสอบระบบ หากเป็นไปตามข้อมูลการออกแบบที่รับมาแล้ว ก็ส่งให้ SA ตรวจสอบอีกครั้ง และหากมีจุดบกพร่องก็ต้องแก้ไขให้สามารถนำไปใช้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อด้วย 3 เรื่องหลักที่อาชีพนี้(ต้อง)เจอเมื่อเข้าไปทำงานในองค์กร ซึ่งที่บอกว่า Programmer เครียดเบอร์แรงมากนั้น สาเหตุส่วนใหญ่ก็มาจากเรื่องเหล่านี้แหละครับ
คุณเหมาะกับอาชีพ Programmer ไหม ?
คุณจะมีความสุขกับงานนี้ได้ไหม ?
ลองไปดู 3 เรื่องนี้ก่อนเลยครับ
1.แทบไม่มีใครสนเลย ว่าการเขียนโปรแกรมมันจะยากแค่ไหน ต้องใช้เวลาในการคิด ทดสอบหรือแก้ไขขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า ,Sales ,ลูกค้า (Sales ต้องรีบทำยอดขายงานกับลูกค้า) พวกเขาเหล่านี้หรืออาจมีมากกว่านี้ จะมาเร่งงานกับเราเมื่อไรก็ได้ ประหนึ่งว่าสั่งก๋วยเตี๋ยวไม่ถึง 5 นาทีต้องได้กิน
แต่จริงๆ ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยเกินไป ก็ควรอธิบายให้พวกเขาเข้าใจ ว่าทำไมงานถึงเสร็จตามเวลาที่เขาเร่งไม่ได้ ไม่งั้นเราจะไม่มีความสุขกับงานเลย
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติของ Programmer คือต้องทำงานเสร็จตาม deadline อันนี้สำคัญสุดอยู่แล้ว จริงๆ คือคุณสมบัติของทุกอาชีพแหละครับ แต่สาย IT จะค่อนข้างโหดกว่าอาชีพอื่น
2.เขียนใกล้จะเสร็จแล้วเชียว ทันใดนั้นก็มีคำขอจาก Sales หรือลูกค้าให้แก้นู่นนี่นั่น ภายในระยะเวลาที่แทบไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดามากที่ Programmer ต้องเจอประจำ บางคนอาจจะชินจนไม่เครียดอะไรแล้ว เพราะเครียดไปก็ต้องแก้อยู่ดี
อย่างไรแล้ว ถ้าเวลาที่เขาให้มันไม่พอที่งานจะเสร็จได้พร้อมคุณภาพ จริงๆ ก็ควรบอกให้เขาเข้าใจตั้งแต่แรกและขอเวลาเพิ่มเลย เพราะคุณภาพสำคัญที่สุด หากงานออกไปแล้วเสียหาย ความผิดก็ตกมาที่ Programmer คนเดียวเลยนะครับ
3.เมื่อเจอ 2 เรื่องข้างบน ตั้งใจจะอธิบายแต่เขาว่าเราพูดไม่รู้เรื่อง สุดท้ายเขาก็ไม่เข้าใจเราอยู่ดี
วงการ IT มีศัพท์เทคนิคเฉพาะมากมาย ถ้าไม่อธิบายความหมายด้วยภาษาทั่วไป คนนอกวงการไม่เข้าใจแน่นอน Programmer อาจต้องเหนื่อยในการหาคำที่เป็นภาษาทั่วไปเพื่อนำมาอธิบายหน่อยนะครับ แต่มันน่าจะช่วยลดความเครียดไปได้เยอะ เช่นว่า ถ้าเขาเป็น Sales แล้วเข้าใจว่ากระบวนการต่างๆ ต้องใช้เวลามากแค่ไหน โปรแกรมถึงจะออกมาได้ตามต้องการอย่างสมบูรณ์แบบ เขาก็สามารถนำไปอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจและยอมรับได้ การเร่งงานประหนึ่งสั่งก๋วยเตี๋ยวก็คงเบาลงนะครับ
อย่างไรแล้ว นอกจากต้องพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรม ทักษะการสื่อสารก็ต้องพัฒนาเช่นกันครับ ตอนเรียนอาจง่ายหน่อย เพราะอยู่กับเพื่อนสายเดียวกัน แต่เมื่อเข้าสู่โลกการทำงาน ต้องทำงานเป็นทีมได้กับคนทุกอาชีพ มีอะไรต้องคุยให้เข้าใจ มันคือธรรมชาติของสังคมการทำงานที่ทุกคนต้องปรับตัว ไม่งั้นอาจกลายเป็นว่า เรานี่แหละครับที่ทำลายความสุขในอาชีพของตัวเอง
งานเร่งอาจมาเมื่อไรก็ได้ แก้บ่อยต้องชินเพราะมันคือเรื่องธรรมดา พูดกับคน (นอกวงการ) ให้เข้าใจอาจเป็นเรื่องยากสุด แต่ต้องทำเพื่อให้มีความสุขกับงาน
คุณพร้อมแล้วใช่ไหมครับ ?
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved