Competency ที่สำคัญในการเป็นหัวหน้า

  • 23 พ.ค. 2566
  • 9522
หางาน,สมัครงาน,งาน,Competency ที่สำคัญในการเป็นหัวหน้า

         ในการเป็นหัวหน้างานที่ดีนั้น จะต้องมีความรู้และทักษะต่างๆ ประกอบมากมาย หลายๆ องค์กรสร้างเป็น Competency ขึ้นมา ที่เราเรียกกันว่า Managerial Competency ซึ่งเป็นสมรรถนะสำหรับพนักงานที่เป็นหัวหน้าจำเป็นจะต้องมี ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของ ภาวะผู้นำ การมองการณ์ไกล การแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจ ฯลฯ แต่เท่าที่ผมได้สัมผัสกับ Managerial Competency ของแต่ละองค์กรที่เข้าไปให้คำปรึกษานั้น ไม่เคยเห็น Competency ในเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานเลย หรือจริงๆ องค์กรมองว่า ไม่สำคัญ แต่ในความเห็นของผมนั้น ทักษะในการเป็นหัวหน้างาน และการเป็นผู้จัดการที่ดีนั้น ทักษะในอันดับต้นๆ ที่หัวหน้างานทุกคนจะต้องมีก็คือ เรื่องของการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับลูกน้องของตนเอง เนื่องจากการที่เราเป็นหัวหน้าคนอื่น เราต้องอาศัยคนอื่นมาทำงานให้เรา ถ้าเขาไม่มีแรงจูงใจในการทำงานให้เรา ผลงานที่เราต้องการก็จะไม่ออกมา หรือบางครั้งก็ต้องเหนื่อยมากกว่าปกติในการที่จะทำให้พนักงานสร้างผลงานให้ ได้ตามที่เราต้องการ แค่เพียงเขาขาดแรงจูงใจที่ดีในการทำงานเท่านั้น  และเมื่อพูดถึงการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานนั้น ก็มีข้อถกเถียงกันว่า ทักษะด้านนี้ มันเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ จากงานวิจัยของทางตะวันตก ก็พิสูจน์มาได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ทักษะในการสร้างแรงจูงใจให้กับทีมงานของเรานั้น เป็นสิ่งที่เราสามารถพัฒนา และสร้างขึ้นได้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นพันธุกรรมที่สืบสายเลือดกันมา

การสร้างแรงจูงให้พนักงานคืออะไรกันแน่

          การสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานในทีมนั้น แปลง่ายๆ ว่า เป็นคนที่ทำให้พนักงานในทีมงานเกิดความรู้สึกที่อยากจะทุ่มเททำงานด้วยความ เต็มใจ และพอใจ ไม่ต้องฝืนใจทำงานมากเกินไป ดังนั้นถ้าเราจะทำให้พนักงานในทีมเกิดแรงจูงใจในการทำงานจริงๆ สิ่งง่ายๆ หัวหน้าจะทำก็คือ

  • สร้างบรรยากาศในการทำงานที่เป็นเชิงบวก ไม่ต้องไปคิดให้ยากครับ วิธีการง่ายๆ เลยก็คือ เดินเข้ามาทำงานในบริษัทด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ใบหน้าเปื้อนยิ้ม และทักทายพนักงานที่เราพบเจอระหว่างทางด้วยความจริงใจ พูดคุยสอบถามถึงสารทุกข์สุขดิบของพนักงานระหว่างที่เดินไปที่ห้องทำงาน ทำแค่นี้ ก็จะสามารถสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีให้กับพนักงานได้ทั้งวันแล้วครับ พนักงานจะเกิดความรู้สึกอบอุ่น สบายใจ และเต็มใจทำงานมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าหัวหน้าเดินเข้ามาในบริษัทด้วยอาการไม่สบอารมณ์ ตาขวาง ลูกน้องทักก็ไม่ตอบ ทำเป็นมองหน้าแบบหาเรื่อง เดินกระแทกกระทั้น วางของอย่างรุนแรงที่โต๊ะทำงาน เสียงดัง บ่นพึมพำไปตลอดทาง ฯลฯ แบบนี้ ผมเชื่อว่า ลูกน้องอารมณ์ดีแค่ไหน ก็ไม่อยากจะทำงานด้วยแน่นอน วันนั้นบรรยากาศในการทำงานจะอึมครึมไปหมด แรงจูงใจพนักงานหดหายไปตามๆ กัน
  • ชมเชยพนักงานที่ทำงานได้ดี สิ่ง ที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานได้อย่างดีก็คือ การที่หัวหน้าให้คำชมเชยกับพนักงานที่ทำงานได้ดี การชมก็ไม่ใช่สักแต่ว่าชมไปตามหน้าที่นะครับ จะต้องชมอย่างจริงใจ และบอกกับลูกน้องให้ชัดเจนว่า ทำอะไรได้ดี ไม่แค่บอกว่า “คุณทำงานได้ดีนะ” แบบนี้ก็ไม่เพียงพอ จะต้องบอกให้ชัดเจนเลยว่าทำอะไรออกมาดี เช่น “การให้บริการลูกค้าของคุณดีมากเลย คุณรับข้อร้องเรียนได้อย่างสุภาพ และให้เกียรติลูกค้า โดยที่ไม่มีอารมณ์เข้ามาปะปนอยู่เลย แบบนี้แหละที่เป็นสุดยอดแห่งการให้บริการ” เป็นต้น เขาจะได้ทราบว่า อะไรที่เขาทำได้ดี จะได้รู้ตัวว่าจะต้องรักษาสิ่งนั้นไว้ ซึ่งเมื่อพนักงานได้รับคำชมที่ดีจากหัวหน้าอย่างจริงใจแล้ว พลังในการทำงานจะเกิดขึ้นอย่างสูงครับ คำชมเชยที่จริงใจ มีค่ายืนยาวกว่าการขึ้นเงินเดือนประจำปีอีกนะครับ เพราะขึ้นไปแล้วก็จบ ดีใจแป๊ปเดียว แต่คำชมจากหัวหน้าที่เขาให้ความสำคัญกับพนักงานนั้น จะอยู่ในความรู้สึกของพนักงานยืนยาวกว่าครับ ดังนั้นต้องฝึกกล่าวคำชมให้จริงใจและเป็นธรรมชาติมากที่สุด
  • ปฏิบัติต่อลูกน้องเหมือนกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง ประเด็น นี้เป็นอีกเรื่องที่จะทำให้พนักงานหมดแรงจูงใจไปได้ทันที ถ้าเขารู้ว่า หัวหน้านินทาเขาลับหลังให้คนอื่นฟัง อยู่ต่อหน้าก็พูดดี แต่พอลับหลังกลับพูดอีกแบบ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อการทำงานแรงมากนะครับ พนักงานส่วนใหญ่รับไม่ค่อยได้หรอกครับ กับพฤติกรรมแบบนี้ของหัวหน้า ต่อหน้าอย่าง ลับหลังอีกอย่าง หรืออีกพฤติกรรมที่ไม่ดีก็คือ ไปร่วมนินทาลูกน้องคนหนึ่ง กับลูกน้องอีกคนหนึ่ง สิ่งที่ควรจะเป็นก็คือ เวลาที่มีใครมาพูดถึงเรื่องเสียหายของลูกน้องอีกคน สิ่งที่หัวหน้าจะต้องทำก็คือ รับฟังแต่ไม่ร่วมใส่สีตีไข่เข้าไปด้วย และที่จะต้องทำก็คือ พยายามบอกกับลูกน้องคนนั้นว่า คนเราก็มีทั้งดีและไม่ดี ดังนั้นให้มองสิ่งที่ดีของเขาจะดีกว่า สิ่งที่สำคัญก็คือ จะต้องทำแบบนี้กับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ

          แค่พฤติกรรม 3 อย่างข้างต้น ถ้าหัวหน้าสามารถทำได้จริงๆ และทำได้อย่างเป็นธรรมชาติจริงๆ เราจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานของเราได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องไปศึกษาทฤษฎีแรงจูงใจให้มันยุ่งยาก ขอให้แค่เปลี่ยนพฤติกรรมของเราเองให้เป็นพฤติกรรมเชิงบวกอย่างที่กล่าวมา ข้างต้นเท่านั้นเอง

 

เครดิต  http://goo.gl/9B4YK9

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top