ผู้พิพากษาโพสต์กรณี'ครูแพะ'ดราม่า!?

  • 11 พ.ค. 2563
  • 1453
หางาน,สมัครงาน,งาน,ผู้พิพากษาโพสต์กรณี'ครูแพะ'ดราม่า!?

พรัช เกิดศิริ : คนที่บริสุทธิ์ควรให้การกับพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริง !! การกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์หลังจากเวลาได้ผ่านมานานแล้วนั้นเป็นสิ่งน่าสงสัย

 

               เฟซบุ๊ก Pairat Kerdsiri นายไพรัช เกิดศิริ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นกรณีครูจอมทรัพย์ ระบุ

 

ผู้พิพากษาโพสต์กรณี'ครูแพะ'ดราม่า!?

 

               " คนไทยจะชอบแต่ดราม่าหรือ ? นักกฎหมายหลายฝ่ายอึดอัดนะ...เห็นท่าจะต้องถ่ายทอดต่อให้ฟังบ้างครับ

               เห็นพิธีกรโทรทัศน์อย่างน้อยสองช่อง กำลัง 'มัน' กับการเสนอข่าว ครูแพะ แล้วรู้สึกอึดอัดใจ ขอคุยเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับคดีนี้บ้าง เผื่อจะทำให้พิธีกรผู้มีจอโทรทัศน์เป็นเครื่องมือจะได้เกิดความคิดที่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ตามกระบวนการที่เขาวางไว้ในกฎหมาย

               เรื่องแรก คือ การไม่ให้การในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาจำนวนมากเข้าใจไปผิดๆ ว่า การไม่ให้ปากคำในชั้นสอบสวนจะเป็นประโยชน์แก่คดีของตน

               ผมเข้าใจว่า คดีที่มีผู้แนะนำให้ผู้ต้องหาไม่ให้ปากคำนั้น มักจะเป็นคดีที่ผู้ต้องหามีส่วนพัวพันอยู่ในคดี และทุกคดีประเภทนี้ก็มักเป็นเช่นนั้น เพราะเกรงว่าเมื่อให้ถ้อยคำไปแล้ว พนักงานสอบสวนจะเอาข้อที่พัวพันนั้นไปหาแง่มุมให้เป็นโทษแก่ตนในภายหลัง จึงใช้วิธีหุบปากไว้ก่อน ความจริงแล้ว การไม่ยอมให้การในชั้นสอบสวนนั้นเป็นพิรุธอยู่ในตัวเองว่า ตนผิด จึงไม่กล้าแสดงเบาะแสใดๆ ออกมา เพราะกลัวจะถูกจับได้ และผู้ต้องหาประเภทนี้ หากพิสูจน์ในภายหลังได้ว่า ผิด ศาลจะลงโทษโดยไม่ลดหย่อน

               ความจริงแล้ว หากผู้ต้องหาที่บริสุทธิ์จริงๆ โดยเฉพาะเมื่ออ้างว่าตนไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ ก็ควรจะต้องให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวนไปโดยตรง แล้วหาพยานมาประกอบ เมื่อให้ปากคำไปโดยสุจริตใจเช่นนั้นแล้ว ก็จะยกขึ้นอ้างในภายหลังได้ว่า ได้เคยบอกไว้เช่นนั้นแล้ว ความจริงอันบริสุทธิ คือ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเช่นนี้ไม่มีใครจะยกขึ้นมาแกล้งให้เป็นอย่างอื่นไปได้ เมื่อถึงเวลาสืบพยาน ก็นำพยานมาแสดงต่อศาล ศาลจะเชื่อหรือไม่ก็อยู่ที่ดุลพินิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ล่วงพ้นไปจากหน้าที่ของอัยการและพนักงานสอบสวนแล้ว

               การไม่ยอมให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน เท่ากับไม่มีข้อต่อสู้ใดๆ ไว้ให้ศาลพิจารณาในสำนวนเลย ดังนั้น เมื่อโจทก์พิสูจน์ถึงองค์ประกอบความผิดที่ถูกกล่าวหาได้ครบถ้วนแล้ว ศาลย่อมลงโทษได้ทันที ดังที่เป็นอยู่ และจะไม่มีสิ่งใดที่จะช่วยคานน้ำหนัก ผ่อนผันหรือสะกิดใจศาลในอันที่จะช่วยทำให้ข้อกล่าวหาเบาลงได้เลย

               คนที่บริสุทธิ์ จึงควรให้การกับพนักงานสอบสวนตามความเป็นจริง

               แต่ถ้าคิดว่า จะไม่ให้การ ก็เท่ากับคิดว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องและกำลังหาทางต่อสู้อยู่ก็ตามใจ คนในวงการกฎหมายเข้าใจเรื่องนี้ดีครับ เพียงชาวบ้านไม่รู้และหลงเชื่อตามๆ กันไปว่า การไม่ให้การจะเป็นข้อได้เปรียบในภายหลัง ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องสำหรับคนที่บริสุทธิ์และไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิด

               ขอย้ำอีกครั้งว่า สำหรับคนบริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือไม่ได้อยู่ในเหตุที่เกิดนะครับ

               ส่วนคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนผิดจริงหรือไม่ จะไม่ให้การก็แล้วแต่จะพอใจ สุดแต่ใจจะเลือกเอาเองว่า ต้องการผลด้านใด จะสู้เพื่อเอาชนะให้ได้ หรือถ้าแก้ตัวไม่หลุดก็ต้องรับโทษหนัก

               เรื่องที่สอง เท่าที่ติดตามดูจากจอโทรทัศน์ รู้สึกว่าพิธีกรที่ทำหน้าที่อยู่หน้าจอจะแสดงอาการออกนอกหน้าว่าเชื่อพยานที่เพิ่งโผล่มาหลังเกิดเหตุเป็นปีๆ แล้ว มากกว่าถ้อยคำพยานที่พยานได้ให้ไว้ในขณะใกล้เคียงเวลาเกิดเหตุ วิธีคิดเช่นนี้ นักกฎหมายเขาไม่คิดกัน เพราะการที่พยานมาพูดเอาหลังจากเวลาผ่านไปเป็นปีๆ แล้วนั้น พยานโกหกตอแหลได้ครับ ไม่ได้แปลว่าพูดตอนหลังแล้วจะเป็นความจริงแต่อย่างใด

               เหตุผลทางกฎหมายขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ รวมถึงพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และต้องเป็นพยานที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เพราะขณะเกิดเหตุ พยานยังไม่มีโอกาสไปคิดหาเรื่องโกหกได้ ต่างจากเมื่อเวลาผ่านไปนาน ย่อมมีสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทำให้ถ้อยคำวิปริตไปได้

               หากินทางเป็นนักข่าวหรือพิธีกรรายการข่าว ก็น่าจะมีความรู้เรื่องพื้นๆ อย่างนี้บ้าง เป็นเรื่องของวิญญูชนแท้ๆ

               เรื่องที่สาม คือ ในการต่อสู้คดีอาญาในศาล ย่อมมีที่ปรึกษากฎหมายอยู่แล้ว ข้อต่อสู้ต่างๆ ที่คิดว่ามีอยู่ในขณะนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องยกขึ้นกล่าวอ้างเสียในขณะต่อสู้คดี เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาไปในคราวเดียวกันนั้นเอง

               การกล่าวอ้างว่ามีพยานปรากฏขึ้นในภายหลังนั้น วิญญูชน - โดยเฉพาะพิธีกรรายการโทรทัศน์ ควรใช้วิจารณญาณด้วยว่า ควรเชื่อถือได้หรือไม่

               ขอย้ำว่า การกล่าวอ้างถึงเหตุการณ์ หลังจากเวลาได้ผ่านมานานแล้วนั้น เป็นสิ่งน่าสงสัย

               คำพูดของคนนั้น พูดได้ตามใจชอบเพื่อประโยชน์ของตน เสกสรรปั้นแต่งได้ บอกว่าจะพาไปสวรรค์ก็ได้ เคยไปคุยกับพระอินทร์มาแล้วก็ยังมีคนมาอ้าง แถมยังมีคนเชื่อด้วย ความน่าเชื่อของคำพูดจึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานอื่นมาประกอบด้วย

               เรื่องที่สี่ พิธีกรคนหนึ่ง - ขอไม่เอ่ยชื่อ คนที่ดูอยู่คงรู้แล้ว - พยายามซักพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนให้สัมภาษณ์แล้วว่า หลังเกิดเหตุพยานในคดีให้ถ้อยคำไว้ในสำนวนว่า "พยานขี่รถมาประสบเหตุ จึงลงไปดูและอ่านป้ายทะเบียนรถได้ชัดเจน และไม่มีใครลงมาจากรถยนต์ จากนั้นรถก็ขับออกไปเลย" แล้วพยานคนนั้นไปให้การในศาลในภายหลังว่า เห็นคนขับเป็นผู้ชายรูปร่างสูงใหญ่ลงมาดู พิธีกรพยายามคาดคั้นว่า ทำไมพนักงานสอบสวนจึงไม่ถามพยานในครั้งนั้นว่า เห็นคนขับหรือไม่ อะไรทำนองนั้น โดยพยายามจะให้เห็นว่าพนักงานสอบสวน บกพร่อง

               อันที่จริง ในเมื่อพยานบอกแล้วว่าไม่เห็นมีใครลงมาจากรถ ก็เท่ากับเป็นคำตอบอยู่ในตัวแล้วว่า เขาไม่เห็นคนขับ หรือไม่เห็นใครทั้งสิ้น จะต้องให้ถามทำไมว่า เห็นคนขับหรือไม่

               การซักถามประเด็นข้อเท็จจริงต่างๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องถามกันโดยละเอียดทุกเรื่อง ถ้าถามพอให้เห็นได้แล้วว่ารูปเรื่องเป็นอย่างไร ได้ความเพียงพอแล้วก็ใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องถามซอกแซกเหมือนที่ที่ปรึกษากฎหมายชอบถามกันเรื่อยเปื่อยในศาลโดยมิได้ทำให้ได้ข้อเท็จจริงอื่นใดเพิ่มขึ้นเลย (จนบางทีศาลท่านก็รำคาญ แต่คงไม่อยากขัดคอ) เมื่อมีข้อเท็จจริงที่สรุปใจความได้เพียงพอที่จะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ก็ถือว่าพอแล้ว คนอ่านสำนวนเขาเข้าใจได้ และเมื่อเบิกความศาลเข้าใจได้ ก็ถือว่าสมประโยชน์แห่งหน้าที่แล้ว เมื่อจำเลยไม่ยอมให้การและยกเป็นประเด็นข้อต่อสู้ขึ้นเองในภายหลังก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องหาพยานมาต่อสู้ด้วย เมื่อผู้ต้องหาไม่ยอมให้การ ก็ไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องไปหาพยานอื่นใดต่อไปอีกเพื่อช่วยผู้ต้องหา หากจะให้พนักงานสอบสวนตั้งประเด็นที่จะสอบพยานฝ่ายผู้ต้องหา ผู้ต้องหาก็ต้องให้การเพื่อตั้งประเด็นไว้ก่อน นี่เป็นเรื่องธรรมดา สามัญสำนึกทั่วไปโดยไม่จำเป็นต้องเรียนกฎหมาย มิฉะนั้นก็ควรจะให้การในชั้นสอบสวนไว้ก่อนดังกล่าวข้างต้น

               เรื่องที่ห้า อยากให้สังคมช่วยกันคิดถึงความสูญเสียของผู้เสียหายบ้าง เวลามีเหตุเช่นนี้ สังคมมักจะเกิดอาการ "ดราม่า" หรือเกิดอารมณ์สะเทือนใจไปกับผู้ต้องหา โดยลืมไปแล้วว่า ผู้เสียหายนอนรอความเป็นธรรมอยู่ในโลง หรือกลายเป็นเถ้าและกระดูกอย่างวังเวงไปแล้ว

               สังคมกำหนดกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่ายอยู่แล้ว คนที่ทำความผิดจริงก็ควรจะรับสารภาพหรือให้การที่เป็นประโยชน์เสียตั้งแต่ชั้นสอบสวน หากเชื่อว่าตนไม่ผิด ก็ควรให้การในเรื่องจริงว่าตนอยู่ที่ไหนในขณะเกิดเหตุ หรือหากมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง และไม่แน่ใจว่าตนผิดหรือไม่ จะไม่ให้การหรือรอให้การต่อศาลอย่างที่ชอบกันนัก ก็ตามใจเถิด ผิดพลาดขึ้นมาแล้วจะมาโวยวายภายหลังไม่ได้ เพราะระบบกฎหมายเปิดทางให้ท่านอยู่แล้ว เมื่อตัดสินใจเลือกใช้หนทางที่ผิดพลาดก็ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร และคงต้องตัดสินใจเอาเองว่าจะรอรับผลอย่างไร และจะปฏิเสธไม่ได้

               สื่อสารมวลชนเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและความคิดของประชาชน ท่านอาจมีสิทธิ์คิดและทำอย่างไรก็ได้ด้วยความมีอิสระเสรีที่ท่านต้องการ แต่ต้องไม่ลืมว่า ขณะที่ท่านได้ร่ำเรียนหรือสร้างตัวขึ้นมาจนมีชื่อเสียงในศาสตร์ด้านสื่อมวลชนนั้น กระบวนการทางกฎหมายเขาก็มีศาสตร์ที่เขาร่ำเรียนกันมาและใช้กันอยู่เป็นหลักอันหนึ่งในสังคมมาถึงบัดนี้เป็นร้อยปีเศษแล้ว เรื่องคดีความทางศาลไม่ใช่บทละครเรียกน้ำตาหรือเพื่อความบันเทิง หรือสะใจแก่ผู้ชมครับ ท่านพิธีกร "

CR:คมชัดลึก

 

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top