แชทหรือเล่นอินเทอร์เน็ตในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน ใช้เป็นเหตุเลิกจ้างได้หรือไม่ ?

  • 23 พ.ค. 2566
  • 1193
หางาน,สมัครงาน,งาน,แชทหรือเล่นอินเทอร์เน็ตในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงาน ใช้เป็นเหตุเลิกจ้างได้หรือไม่ ?

แชทเรื่องส่วนตัว ใช้เน็ตกับเรื่องอื่นในเวลางาน เลิกจ้างได้เลยไหม ?

ยุคนี้เราคุยกันผ่านออนไลน์แทบตลอดเวลา รวมถึงเวลางาน จะไม่ให้แชทเรื่องส่วนตัวหรือเข้าเว็บไปดูคอนเทนต์ต่าง ๆ เป็นไปไม่ได้ !!

แล้วเรื่องนี้ในทางกฎหมายเป็นอย่างไรบ้าง เลิกจ้างได้เลยรึเปล่า มาหาคำตอบพร้อมกันเลยค่ะ

 

จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2557 จำเลย (นายจ้าง) เลิกจ้างโจทก์ (ลูกจ้าง) เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2553 ให้มีผลทันที เนื่องจากในเวลาทำงาน โจทก์ใช้คอมฯของจำเลยเล่นอินเทอร์เน็ต พูดคุยเรื่องส่วนตัวและบันทึกข้อความทางอินเทอร์เน็ตเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง ก็ถือว่าโจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยไปในเรื่องไม่เกี่ยวกับงาน ทั้งที่อยู่ในระหว่างทดลองงาน แทนที่จะทุ่มเททำงานให้จำเลยอย่างเต็มที่ โจทก์ทำงานด้านบัญชี จะต้องมีความละเอียดรอบคอบ มิฉะนั้นจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้

 

กรณีนี้เป็นการกระทำเรื่องอื่นที่ไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ลุล่วงโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าสินแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย  และการใช้เวลาทำงานทำเรื่องส่วนตัว ย่อมจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์

 
ขอบคุณข้อมูล : ทนายฝ้าย ยิ่งพร อินทร์ศรีชื่น (วิทยากร และทนายความที่ปรึกษาด้านแรงงานและ PDPA)

https://www.facebook.com/labourlawclinique/

 

โดยสรุป HR Buddy เห็นว่า เราแชทหรือเล่นเน็ตกับเรื่องส่วนตัวในเวลางานได้นะคะ แต่ต้องไม่นานเกินจนทำให้งานของนายจ้างเสียหาย เล่นแต่พองาม แชทเฉพาะเรื่องด่วนเรื่องสำคัญก็พอ แต่ถ้ากระทบกับงานเมื่อไร ผลที่ตามมาไม่ดีแน่ค่ะ

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top