ผู้สมัครงาน
ลูกจ้างทำผิด แต่คนออกใบเตือนไม่รู้องค์ประกอบของการเตือนที่ทำให้มีผลทางกฎหมาย แล้วหากนำมาเป็นเหตุเลิกจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยนะคะ
นายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดผลทางกฎหมาย นายจ้างไม่เสียสิทธิ์ ลูกจ้างก็รับผลตามสิ่งที่ทำ
มาดูตัวอย่างให้เข้าใจกันเลยค่ะ จากคำพิพากษาฎีกาที่ 694/2562
นายจ้างสืบได้ว่าลูกจ้างลาป่วยไม่สุจริต ลาและหยุดงานจำนวนมาก ละทิ้งหน้าที่ เกียจคร้านไม่ทำงาน จึงได้มีการออกใบเตือนแจ้งลูกจ้าง ซึ่งบรรยายครบว่า ทำผิดอะไร แต่ไม่ได้บอกว่า “ห้ามทำอีก”
กรณีนี้ เมื่อมีการทำซ้ำและเลิกจ้าง ศาลได้วินิจฉัยว่า แม้หนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 (4) จะไม่ได้กำหนดรูปแบบไว้ แต่ลักษณะทั่วไปของหนังสือเตือนต้องประกอบด้วย
1 ข้อเท็จจริงอย่างพอเพียง ที่ทำให้ลูกจ้างทราบว่า ตนเองกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในข้อใด
2 ข้อความห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีก
ดังนั้น เมื่อพิจารณาใบเตือนของบริษัทแล้ว ล้วนแต่มีการระบุไว้เฉพาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของลูกจ้างว่า ลาและหยุดงานจำนวนมาก ละทิ้งหน้าที่ เกียจคร้านไม่ทำงาน ไม่ปรากฏข้อความเตือนห้ามไม่ให้ทำซ้ำอีก ถือว่าใบเตือนดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือแจ้งการกระทำผิดให้โจทก์ทราบเท่านั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นการตักเตือนเป็นหนังสือตามกฎหมาย ฉะนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างแล้วจะยกมาเป็นเหตุไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้
ตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า กระบวนการขั้นตอนในการบริหารแรงงาน และปฏิบัติตามกฎหมายสำคัญเพียงใด มากไปกว่านั้น ความไม่รู้กฎหมายก็ไม่เป็นข้อแก้ตัวด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูล : ทนายฝ้าย ยิ่งพร อินทร์ศรีชื่น (วิทยากร และทนายความที่ปรึกษาด้านแรงงานและ PDPA) https://www.facebook.com/labourlawclinique/
ในที่ทำงานล้วนเกี่ยวข้องกับกฎหมาย HR Buddy มองว่า ทุกคนควรศึกษาให้เข้าใจถูกต้องชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลหรือ HR รวมถึงลูกจ้าง จะได้ไม่เผลอทำอะไรผิดและไม่เสียสิทธิ์ทางกฎหมายแบบไม่รู้ตัวด้วยค่ะ
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved